โรงพยาบาลอุทัยธานี

ความเป็นมา

ความเป็นมาโรงพยาบาลอุทัยธานี

ปีพุทธศักราช 2461 งานบริการสาธารณสุขทั้งหมดอยู่ภายใต้การบริหารของ “กรมสาธารณสุข” ในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ซึ่งได้มีการประกาศจัดตั้งเป็นกรมสาธารณสุข วันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2461 เรื่อยมาจนถึงปีพุทธศักราช 2485 จึงได้มีการสถาปนากรมสาธารณสุขขึ้นเป็นกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2485 (กรมการแพทย์.2553)

การบริหารงานของกระทรวงสาธารณสุขในระยะเริ่มดำเนินการนั้น นายแพทย์สีพจน์ สวนศิลป์พงศ์ อดีตผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุทัยธานี (พ.ศ. 2495-2496) ได้เขียนเล่าไว้ในหนังสือ“50 ปี กึ่งศตวรรษพัฒนาโรงพยาบาลแพร่” ความว่า ในระยะเริ่มแรกกระทรวงสาธารณสุข แบ่งงานเป็น 5 หน่วย ได้แก่ สำนักงานปลัดกระทรวง กรมมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ (ผลิตหมอ) กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ (ผลิตยา) กรมการแพทย์ (รักษา) และกรมอนามัย (ป้องกันและควบคุมโรค)

กรมการแพทย์มีหน้าที่ให้การรักษาพยาบาลนั้น เมื่อแรกก่อตั้งมีโรงพยาบาลในสังกัดเฉพาะในส่วนเพียง 3 แห่งเท่านั้น คือ วชิรพยาบาล โรงพยาบาลกลาง และโรงพยาบาลเลิดสิน ในส่วนโรงพยาบาลภูมิภาคไม่มีเลย จึงได้วางโครงสร้างการก่อสร้างโรงพยาบาลให้ครบทุกจังหวัด โดยมีขั้นตอนดังนี้

1. รับโอนโรงพยาบาลของเทศบาลในจังหวัดใหญ่ เช่น โรงพยาบาลนครเชียงใหม่ โรงพยาบาลลำปาง โรงพยาบาลนครราชสีมา

2. ให้งบประมาณก่อสร้างโรงพยาบาลในจังหวัดที่ยังไม่มีโรงพยาบาลเลย

3. ให้งบประมาณก่อสร้างโรงพยาบาล ในจังหวัดที่มีโรงพยาบาลของมิชชันนารีหรือโรงพยาบาลทหารอยู่แล้ว

ปีพุทธศักราช 2485-2505 มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นกับกรมการแพทย์อย่างมาก ประเทศไทยอยู่ในภาวะสงครามต่อเนื่องระหว่างสงครามอินโดจีน สงครามเอเชียบูรพา และสงครามโลกครั้งที่ 2 หลังสงครามสงบมีการเปลี่ยนแปลงคณะรัฐบาล และต่อมามีการโอน รับโอน ปรับปรุง และก่อสร้างโรงพยาบาลเพิ่มขึ้น รวมโรงพยาบาลในสังกัดกรมการแพทย์ทั้งสิ้นถึง 102 แห่ง เป็นโรงพยาบาลส่วนกลาง 11 แห่งสถาบัน 2 แห่งและโรงพยาบาลส่วนภูมิภาค 89 แห่ง

ปีพุทธศักราช 2461 งานบริการสาธารณสุขในจังหวัดอุทัยธานีอยู่ในความรับผิดชอบของเทศบาลเมืองอุทัยธานีสังกัดกระทรวงมหาดไทยซึ่งเป็นที่รู้จักของประชาชนว่า “สุขศาลา” และต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น"โรงพยาบาลอุทัยธานี"

เนื่องจากงานบริการสาธารณสุขของโรงพยาบาลเมืองอุทัยธานีมีทั้งประชาชนที่อยู่ในเขตเทศบาลและนอกเขตเทศบาลมาใช้บริการมีปริมาณเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้สถานที่ให้บริการผู้ป่วยมีความคับแคบ กอปรกับขณะนั้น จังหวัดอุทัยธานียังไม่มีโรงพยาบาลเพื่อรับบำบัดโรคให้แก่ประชาชน ประชาชนในจังหวัดอุทัยธานีจึงได้รวมกลุ่มทำหนังสือเปิดผนึกถึงนายพร มากวงษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสมัยนั้น เพื่อขอความช่วยเหลือและให้ดำเนินการเพื่อให้มีการจัดตั้งโรงพยาบาลจังหวัดอุทัยธานี ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขมีหนังสือที่ 1704/2439 ลงวันที่ 23 พฤศจิกายน 2489 ถึงนายพร มากวงษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและคณะกรรมการจังหวัดอุทัยธานีว่า “ถ้าประสงค์จะจัดตั้งโรงพยาบาลก็ให้สงวนเนื้อที่ไว้อย่างน้อยประมาณ 25 ไร่ เพื่อสะดวกแก่การขยายกิจการของโรงพยาบาลในเวลาต่อไป”

วันที่ 1 พฤศจิกายน 2493 โรงพยาบาลเมืองอุทัยธานีได้โอนภารกิจงานด้านสาธารณสุขในสังกัดกรมการแพทย์และเรียกชื่อใหม่ว่า “โรงพยาบาลอุทัยธานี” ซึ่งตัวอาคารประกอบด้วย เรือนรับคนไข้ 1 หลัง จำนวน 25 เตียง โดยใช้สถานที่ดั้งเดิมจึงเป็นจุดเริ่มต้นของการมีโรงพยาบาลประจำจังหวัด

โรงพยาบาลอุทัยธานีได้รับงบประมาณในปีพ.ศ. 2493 เป็นช่วงที่ให้มีการก่อสร้างโรงพยาบาลในส่วนภูมิภาค (ขั้นตอน 2 ได้งบประมาณก่อสร้างโรงพยาบาลในจังหวัดที่ยังไม่มีโรงพยาบาลเลย) ตามมาตรฐานโรงพยาบาลทั่วไปประกอบด้วย ตึกอำนวยการ 1 หลัง เรือนคนไข้ขนาด 25 เตียง 1 หลัง เรือนพักคนงาน 5 ห้อง 1 หลัง โรงครัว 1 หลัง โรงซักฟอก 1 หลัง และที่พักศพ 1 หลัง

แต่เนื่องจากสถานที่โรงพยาบาลเดิมมีเนื้อที่จำกัด ไม่สามารถขยายสร้างอาคารต่อเติมตามมาตรฐานได้ จังหวัดอุทัยธานีจึงได้ทำหนังสือถึงกระทรวงสาธารณสุขขออนุญาตย้ายโรงพยาบาลไปตั้ง ณ สถานที่แห่งใหม่ บริเวณชายเขาสะแกกรัง อำเภอเมือง จังหวัดอุทัยธานี ซึ่งเป็นที่ดินของเทศบาลเมืองอุทัยธานีและที่ดินที่มีผู้บริจาค รวมเนื้อที่ ประมาณ 35 ไร่ 64 ตารางวา ให้ใช้เป็นที่จัดตั้งโรงพยาบาลอุทัยธานี โรงพยาบาลอุทัยธานีจึงได้ย้ายจากโรงพยาบาลเดิมมาสร้าง ณ ที่ปัจจุบันเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2501